สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง

กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

วรรคสอง เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2561

 

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2560

กรรมการบริษัทเดินทางออกจากประเทศและไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี แม้ไม่ใช่กรณีผู้แทนนิติบุคคลว่างลงซึ่งผู้ร้องอาจขอให้แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง และเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะการที่กรรมการบริษัทไม่อยู่ทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลอาจมีผลเช่นเดียวกับตำแหน่งผู้แทนของนิติบุคคลว่างลง และการที่กรรมการดังกล่าวไม่อยู่อาจมีเหตุอันควรเชื่อว่าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้

การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราว จะต้องได้ความว่าหากไม่แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวในขณะที่กรรมการบริษัทไม่อยู่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ และผู้ที่จะให้แต่งตั้งเป็นผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลนั้นด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2559

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับและในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2559

ส. เป็นผู้เอาประกันภัยสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคาร ก. เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าธนาคาร ก. แสดงเจตนาขอรับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าว ธนาคาร ก. จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ส. ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ค่าสินไหมทดแทนไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ส. มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย เพราะได้มาหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของ ส. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นมารดาของ ส. ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ส. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559

ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดระบุว่า กรณีใดมิได้ตราไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รวมถึงกฎหมายอาคารชุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ตลอดจนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดมิได้มีบทบัญญัติให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ได้แก่มาตรา 1176 และมาตรา 1195 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การมอบฉันทะให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นกรณีที่การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเป็นการประชุมซึ่งมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1176 การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมย่อมเสียไปทั้งหมด หาใช่มีผลเพียงไม่นับการออกเสียงลงคะแนนของ อ. เป็นองค์ประชุมและคะแนนที่จะใช้ลงมติไม่

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย